โลโก้เว็บไซต์ นักศึกษา กับ การประกันคุณภาพการศึกษา | คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์

นักศึกษา กับ การประกันคุณภาพการศึกษา


บทบาทนักศึกษากับการประกันคุณภาพ

           1.  บทบาทนักศึกษากับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษานักศึกษาในฐานะผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบัน ควรมีบทบาทในการเป็นส่วนสนับสนุนและส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผลการดำเนินงานที่ดีมีคุณภาพ  ย่อมส่งผลโดยตรงต่อนักศึกษาเช่นกัน  ดังนั้น บทบาทนักศึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบันจึงควรมีดังต่อไปนี้

          1.1  บทบาทในการศึกษา ติดตาม รับรู้การดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบัน ทั้งในภาพรวมและโดยเฉพาะองค์ประกอบในส่วนที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อนักศึกษาโดยตรงได้แก่ องค์ประกอบด้านการเรียนการสอน  ด้านกิจกรรมพัฒนานักศึกษา หรือด้านทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  โดยควรศึกษาว่าสถาบันได้กำหนดนโยบายคุณภาพและแนวทางการดำเนินงานประกันคุณภาพในแต่ละองค์ประกอบไว้อย่างไร

          1.2  บทบาทในการให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานประกันคุณภาพต่อสถาบันในส่วนที่นักศึกษาพิจารณาว่า หากได้มีการกำหนดดัชนีเพิ่มเติมในแต่ละเรื่อง จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น

          1.3  บทบาทในการให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลย้อนกลับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินการดำเนินงานประกันคุณภาพ ซึ่งสถาบันดำเนินการด้วยข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ให้ข้อเท็จจริงมากที่สุด  เพื่อให้ข้อมูลความคิดเห็นของนักศึกษาเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบัน

          1.4  บทบาทในการสะท้อนภาพการดำเนินงานของหน่วยงานหรือการดำเนินบทบาทของคณาจารย์และบุคลากรต่อสถาบันโดยตรง ในกรณีที่นักศึกษาพิจารณาเห็นว่าการดำเนินงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือไม่ครบองค์ประกอบการดำเนินงานที่ควรจะเป็น  อันจะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางการประกันคุณภาพต่อไป

          1.5  บทบาทในการเผยแพร่และเชิญชวนให้นักศึกษาในสถาบัน ได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านประกันคุณภาพของสถาบัน


          1.6  บทบาทในการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรนักศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกันคุณภาพของสถาบัน  เพื่อสร้างเครือข่ายในการร่วมติดตาม  รับรู้การดำเนินงานประกันคุณภาพ  สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์และโลกทัศน์การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพมีความเข้มแข็งและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่นักศึกษาต่อไป 

         2.   บทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้

          2.1  ให้ข้อมูลแก่สถาบันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ที่สะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นจริง

          2.2  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการสอนของคณาจารย์

          2.3  ให้ข้อมูลที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการสอนของคณาจารย์
          2.4  เสนอแนะรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

          2.5  แสดงความสนใจในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้ให้ผู้สอนทราบ

          2.6  ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลของสถาบัน

          2.7  พัฒนาตนเองให้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกย่อง

          2.8  ทำตนไม่ให้สถาบันเสื่อมเสีย

          2.9  หาโอกาสในการสร้างชื่อเสียงแก่สถาบันตามศักยภาพของตนเอง

          2.10  ช่วยให้ข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลของเพื่อนักศึกษาหรือศิษย์เก่าที่ได้รับการยกย่องให้สถาบันรับทราบ

          2.11  สื่อสารให้สถาบันทราบถึงความต้องการจำเป็นของตนเองที่ต้องการให้สถาบันจัดบริการให้

          2.12  ให้ข้อมูลต่อสถาบันเกี่ยวกับคุณภาพหรือความเหมาะสมของบริการที่สถาบันจัดให้

          2.13  เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สถาบันจัดขึ้นเพื่อพัฒนาตนเอง
          2.14  นำกระบวนการคุณภาพไปใช้ในการจัดกิจกรรมนักศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษาคืออะไร ?

                การประกันคุณภาพการศึกษา คือ กระบวนการในการบริหารจัดการและการดำเนินการตามภารกิจหลักที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องปฏิบัติ 4 ประการ คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยกระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย การควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ การประเมินคุณภาพ และการพัฒนาคุณภาพเพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจหลักทั้ง 4 ประการนั้นได้มาตรฐานตามองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษา ผู้ปกครอง สถานประกอบการ สังคมและประเทศชาติ ได้ว่าการจัดการศึกษาของสถาบันนั้นได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันมีคุณภาพและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ รวมถึงการพัฒนา การจัดการศึกษาของสถาบันให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

 

การประกันคุณการศึกษาเพื่ออะไร ?

                1. เพื่อให้สาธารณชนมั่นในว่าคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดำเนินการตามพันธกิจ 4 ด้าน ของการอุดมศึกษาครบถ้วนอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน

                2. เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและพร้อมรับการตรวจประกันคุณภาพโดยคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์รวมทั้งหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง

                3. เพื่อให้คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์มีการจัดการที่ดีและสามารถตรวจสอบได้

 

ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการประกันคุณภาพการศึกษา

นักศึกษา  :                 ได้รับการจัดการศึกษาที่มีมาตรฐานและเกิดการ   เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ

ผู้ปกครอง :                 ไว้วางใจในสถาบันที่จะให้ลูกหลานเข้าศึกษา

ผู้ประกอบการ :            ได้บุคลากรที่ดีมีความรู้ความสามารถเหมาะสมตาม

                                ต้องการ

สังคม/ประเทศ :           ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพส่งผลต่อการพัฒนาสังคม

                                และประเทศในภาพรวม

คณะศิลปกรรมฯ :         บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการศึกษา

ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของ   คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ จำแนกได้เป็น 2 ส่วนคือ

                การประกันคุณภาพภายใน  หมายถึง การประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานภายในของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้บุคลากรภายในหรือหน่วยงานมหาวิทยาลัยเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และได้รับการตรวจประเมินจากคณะกรรมการภายใต้เกณฑ์และองค์ประกอบที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นผู้กำหนด

                การประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก  หมายถึง การตรวจสอบและประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานภายนอก เพื่อประกันว่ามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามภารกิจหลักอย่างมีคุณภาพ ภายใต้เกณฑ์และมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเป็นกลไกในการตรวจสอบและประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัย

 

เอกสารแนะนำการให้บริการหน่วยงาน สำหรับนักศึกษา

  •  
  1. งานบริการศึกษาและกิจกรรมพิเศษ

เจ็ดยอด ตั้งอยู่สำนักงานคณบดี อาคาร 9 ชั้น 2 คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์

ห้วยแก้ว : ตั้งอยู่สำนักงานสาขาสถาปัตยกรรม อาคารสถาปัตยกรรม ชั้น 2  มีหน้าที่ : ให้ข้อมูลด้านการศึกษา ลงทะเบียน การสอบถามสถานภาพด้านการเป็นนักศึกษา การกู้ยืมเงิน กยศ. หลักสูตรและการเรียนการสอน การขอจบการศึกษา แหล่งทุนการศึกษาระหว่างการศึกษา แหล่งทุนการศึกษาต่อ แหล่งฝึกประสบการณ์ และแหล่งงานทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตร

  1. จุดให้บริการด้านวิเทศสัมพันธ์ ตั้งอยู่อาคาร 2 ชั้น 1 คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ 

 มึหน้าที่ : ให้ข้อมูลด้านวิเทศสัมพันธ์ (ต่างประเทศ) สำหรับการทำงานและศึกษาต่อในต่างประเทศ การฝึกงานต่างประเทศ เรื่องเกี่ยวกับทุนการศึกษาในต่างประเทศ ด้านการพัฒนาความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ

  1. ศูนย์ DSS คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่อาคาร 2 ชั้น 1   มีหน้าที่  :  ที่ให้บริการแก่นักศึกษาพิการทางร่างกาย

ห้องสมุด คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่อาคาร 9 ชั้น 1 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำที่ให้บริการ จำนวน 2 คน

ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา